วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ทำจากหินทรายแป้ง ลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่าทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ 35 เซนติเมตร สูง 111 เซนติเมตร จารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ปี พ.ศ.1835 เรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า จารึกหลักที่ 1 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เมื่อปี พ.ศ.2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะทรงผนวชได้เสด็จจาริกหัวเมืองฝ่ายเหนือ ถึงเมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้พร้อมพระแท่นมนังคศิลาบาตร ณ โคกปราสาทร้าง จึงได้โปรดให้นำเข้ากรุงเทพ ฯ ในขั้นแรกเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส เพราะทรงประทับอยู่ ณ ที่วัดนั้น ต่อมาเมื่อทรงย้ายไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดให้ย้ายไปไว้ที่วัดบวร ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงอ่านศิลาจารึกหลักนี้ได้เป็นพระองค์แรก และหอสมุดวชิรญาณได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2467

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้ที่ถูกเรียกกันว่าเป็นนักวิชาการบางคน และพรรคพวกที่มีความเห็นอย่างเดียวกัน บางพวกไม่เชื่อว่าเป็นศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงสร้างขึ้นไว้เมื่อประมาณ เจ็ดร้อยปีก่อน จึงได้มีการพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสนอแนะไว้ในคราวประชุมใหญ่ ฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2532 โดยมอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์ ประจำกรมศิลปากร และกรมทรัพยากรธรณี ทำการวิจัยเรื่อง การพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยนำศิลาจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้ง ชนิดเดียวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 และถูกทิ้งกรำแดดกรำฝน คือศิลาจารึกวัดพระบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร (จารึกหลักที่ 3) ศิลาจารึกวัดมหาธาตุ (จารึกหลักที่ 45) พระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกชีผ้าขาวเพสสันดรวัดข้าวสารมาเปรียบเทียบกัน ผู้วิจัยได้ใช้แว่นขยายรังสีอัลตร้าไวโอเลต และรังสีอินฟราเรด กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจพิสูจน์ เมื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์หลาย ๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่างแล้ว หาค่าเฉลี่ยพบว่า ความแตกต่างขององค์ประกอบที่ผิวกับส่วนที่อยู่ข้างในของศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักที่ 3 และหลักที่ 45 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน จึงสรุปผลการพิสูจน์ว่า

"ผลปรากฏว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการจารึกตัวอักษรมีปริมาณแคลไซด์ ลดลงมากใกล้เคียงกับผิวส่วนอื่น ๆ ของศิลาจารึกหลักที่ 1 จนสามารถมองเห็นเป็นชั้นที่มีความแตกต่างได้ชัดเจน แสดงว่าเป็นการจารึกในช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดก้อนหินออกมาเป็นแท่งแล้วขัดผิวให้เรียบ มิใช่เป็นการนำแท่งหินที่ขัดผิวไว้เรียบร้อยในสมัยสุโขทัย แล้วนำมาจารึกขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ "

จากความจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว แสดงว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึก หลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสัดร จึงเป็นอันยุติว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นของดั้งเดิม มิใช่ทำขึ้นใหม่ อย่างที่กลุ่มคนบางจำพวกยกเป็นประเด็นขึ้นมา

สาระสำคัญของศิลาจารึกหลักที่ 1 เบื้องต้นเป็นการบอกเล่า พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงบอกเล่าด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงขึ้นครองราชย์ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย และวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยสุโขทัย ที่อยู่ร่วมกันด้วยน้ำใจไมตรี เคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ความมีใจบุญสุนทาน เอื้ออาทรกัน ให้ทานและรักษาศีลกันเป็นประจำ

ในจารึกให้ข้อมูลว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ในปีมหาศักราช 1205 ซึ่งตรงกับ ปี พ.ศ.1826 ต่อมาในปี มหาศักราช 1214 (พ.ศ.1835) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ช่างนำหินทรายแป้งมาทำพระแท่นชื่อ พระแท่นมนังคศิลาบาตร ตั้งไว้ที่กลางดงตาล ในวันพระแปดค่ำ สิบห้าค่ำ จะนิมนต์พระเถระขึ้นนั่งบนพระแท่นแล้วแสดงธรรมให้ลูกจ้าวลูกขุนไพร่ฟ้าข้าไท ท่วยปั่ง ท่วยนางทั้งหลายได้สดับตรับฟัง ในวันธรรมดาพ่อขุนรามคำแหง ทรงขึ้นประทับนั่งว่าราชการงานเมือง และตัดสินคดีความที่ไพร่ฟ้าหน้าปกมาร้องทุกข์ ทรงโปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ เพื่อให้ผู้ที่มีความทุกข์ร้อนมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์

ด้านการพระพุทธศาสนา พ่อขุนรามคำแหงทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ จากนครศรีธรรมราชมาร่วมกับภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเดิม ผู้สืบทอดมาแต่พระโสนะเถระ และพระอุตรเถระให้มาอบรมสั่งสอนชาวสุโขทัย ปรากฏว่าพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสีอย่างชัดเจน มีการตั้งสมณศักดิ์เป็นปู่ครู เถระ มหาเถระ แก่พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งในทางปกครอง คนสุโขทัยในสมัยนั้น จึงทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน โดยวันธรรมดารักษาศีลห้า ในวันธรรมสวนะ หรือวันพระรักษาศีลแปด หรือศีลอุโบสถตามแต่ศรัทธา

ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีงานนักขัตฤกษ์เผาเทียนเล่นไฟ อันเป็นที่มาของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวสุโขทัย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ด้านการปกครอง จารึกไว้ว่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทิศตะวันออกตั้งแต่สรลวงสองแคว (พิษณุโลก) เลย จากลุมบาจายสะคาไปถึงเวียงจันทน์ ทิศใต้ตั้งแต่สุพรรณบุรี ราชบุรี เลยนครศรีธรรมราชไปสุดแผ่นดินจดทะเลมหาสมุทร ทิศตะวันตกเลยเมืองฉอด ไปถึงเมืองหงสาวดีมีมหาสมุทรเป็นแดน ทิศเหนือถึงแพร่ น่าน ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองหลวงพระบาง

ศิลาจารึกวัดศรีชุม เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 2 ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา กว้าง 67 เซนติเมตร สูง 275 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี 107 บรรทัด ด้านที่สองมี 95 บรรทัด มีอายุประมาณ ปี พ.ศ.1880 - 1910 นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นที่หลวงสโมสรพลการ พบที่อุโมงค์วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.2430 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

สาระสำคัญของจารึกหลักนี้ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นเจ้าได้ให้ศิษย์ของท่าน จารทำบอกเล่าให้เราให้ทราบเรื่องของคนไทยสมัยก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครองกรุงสุโขทัย ทรงเล่าไว้ว่า ท่านเกิดในนครสรลางสองแคว (พิษณุโลก) เป็นโอรสพระยาคำแหงพระราม เป็นหลานปู่พ่อขุนนาวนำถุม หรือพระยาศรีนาวนำถุม ซึ่งเสวยราชย์ในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อ นครสุโขไท อีกอันหนึ่งชื่อ นครสรีเสชนาไล (ศรีสัชนาลัย) ภายหลังประทับอยู่ที่นครสุโขทัยแห่งเดียว ส่วนนครศรีสัชนาลัยนั้นทรงตั้งขุนยี่ คือ อุปราชปกครอง โอรสองค์โตชื่อ ขุนผาเมือง ให้ไปครองเมืองราด เมืองลุม เป็นราชบุตรเขยของผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ (พระเจ้าชัยวรมันที่แปด) และดำรงตำแหน่งยุวราชแห่งศรีโสธรปุระด้วย โอรสอีกองค์หนึ่งชื่อพระยาคำแหงพระราม (พระบิดาสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา ฯ) ให้ครองนครสรลวงสองแคว

เมื่อสิ้นพ่อขุนนาวนำถุมแล้ว ขอมสบาดโขลนลำพง ยึดอำนาจการปกครอง พ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งดำรงตำแหน่งขุนยี่ครองนครศรีสัชนาลัย จึงขึ้นไปเมืองบางยาง ได้รวบรวมพลร่วมกับพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นสหาย โดยจัดทัพแยกกันเป็นสองทาง ขุนบางกลางหาวยกกำลังเข้ายึดศรีสัชนาลัยคืนได้แล้ว ก็นำกำลังมารวมกับกำลังของขุนผาเมืองที่เมืองบางขลัง แต่แต่งกลอุบายให้ขอมสบาดโขลนลำพงยกกำลังไปรบกับขุนบางกลางหาว แล้วขุนผาเมืองก็ยกกำลังเข้ายึดสุโขทัยได้ ขอมสบาดโขลนลำพงเสียรู้แตกกลับไป

ขุนผาเมืองเชิญขุนบางกลางหาวเข้าเมืองสุโขทัย แล้วอภิเษกให้ครองเมืองสุโขทัย พร้อมทั้งให้นามเกียรติของตนที่ได้จากผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย์ ขุนบางกลางหาวจึงมีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา ฯ ได้เล่าเรื่องของท่านเองตั้งแต่เยาว์จนถึงหนุ่ม ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระยาคำแหงพระรามผู้เป็นบิดา ครั้งสุดท้ายรบชนะขุนจัง แล้วมองเห็นความทุกข์ความไม่เที่ยงในโลกีย์วิสัย จึงสละสมบัติออกบวชแล้วเดินธุดงค์ไปเที่ยวทุกแห่ง เข้าไปสู่อินเดียตอนใต้ แล้วไปถึงลังกาทวีป พบเห็นมหิยังคณะมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ปรักหักพังเกิดศรัทธา จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อพระองค์ได้กระทำสักการบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ ก็เกิดปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์แก่พระองค์และชาวสิงหล พระองค์จึงได้รับการยกย่องเทิดทูนจากชาวสิงหล สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีศรัทธา ฯ พระองค์ประทับอยู่ที่ลังกาเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงเดินทางกลับสุโขทัย และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาด้วย เมื่อมาถึงสุโขทัยก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ประดิษฐาน ณ นครสุโขทัย บางฉลัง ศรีสัชนาลัย เพื่อให้เป็นเมืองธรรมจึงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ สร้างพิหารเจ้าอาวาส สร้างพระพุทธรูปอันงามพิจิตร

ท่านได้ไปเที่ยวโปรดสัตว์ ไปพบพระมหาธาตุเจดีย์ปรักหักพังอยู่กึ่งกลางนครพระกริส จึงอธิษฐานบารมีจนพบแหล่งปูน ท่านได้นำมาก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ จากเดิมที่สูง 95 วาไม้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วได้ความสูง 102 วา พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ขอมเรียกว่า พระธม ส่วนปูนที่เหลือท่านได้นำไปซ่อมแซมพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก

ศิลาจารึกนครชุม เรียกว่า จารึกหลักที่ 3 ทำด้วยหินทรายแป้งเป็นรูปใบเสมา กว้าง 47 เซนติเมตร สูง 193 เซนติเมตร หนา 6 เซนติเมตร จารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทยด้านที่หนึ่งมี 78 บรรทัด ด้านที่สองมี 58 บรรทัด สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1900 สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่วัดบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.2464 ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพ ฯ

สาระสำคัญของจารึกหลักนี้ บอกให้ทราบในเบื้องต้นว่า พระยาลือไทยโอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.1890 เมื่อเสวยราชย์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายแต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษก เป็นท้าวเป็นพระญา ชื่อ ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ จากลังกาทวีปใน ปี พ.ศ.1900 จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม และทรงจารึกไว้ว่า "...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล..."

พระมหาธรรมราชาลิไททรงเชื่อว่าพระพุทธศาสนา จะมีอายุดำรงอยู่ในโลกนี้ได้ห้าพันปี จึงทรงจารึกไว้ว่า "...ผิมีคนมาถามศาสนาพระเป็นเจ้ายังเท่าใดจักสิ้นอั้นให้แก่ว่าดังนี้ แต่ปีอันสถาปนาพระมหาธาตุนี้เมื่อหน้าได้สามพันเก้าสิบเก้าปีจึงจักสิ้นพระ ศาสนาพระเป็นเจ้า..." และยังได้ตรัสถึงสัทธรรมอันตรธานห้าประการ คือ ประมาณพระพุทธศาสนายุกาลได้ 1999 ปี พระไตรปิฎกจักหาย หาคนรู้แท้มิได้ มีคนรู้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น พระธรรมเทศนามหาชาติหาคนสวดมิได้ ชาดกมีต้นหาปลายมิได้ พระอภิธรรมนั้น พระปัฏฐานและพระยมกหายไปก่อน เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ 2999 ปี "...ฝูงภิกษุสงฆ์จำศีลคงสิกขาบทสี่อันยังมีสิกขาบทอันหนักหนาหามิได้เลย " เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ 3999 "...ฝูงชีจักทรงผ้าจีวรหามิได้เลย เท่ายังมีผ้าเหลืองน้อยหนึ่งเหน็บใบหู และรู้จักศาสนาพระเป็นเจ้าดายุ..." เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ 4999 ปี "...อันว่าจักรู้จักผ้าจีวรจักรู้จักสมณะน้อยหนึ่งหามิได้เลย..." เมื่อสิ้นอายุพระศาสนานั้นทรงพรรณาไว้ว่า

"...เมื่อปีอันจักสิ้นศาสนา พระพุทธเป็นเจ้าที่สุดทั้งหลายอั้น ปีชวด เดือนหก บูรณมี วันเสาร์ วันไทยวันระรายสันวันไพสาขฤกษ์ เถิงเมื่อวันดังนั้น แต่พระธาตุทั้งหลายอันมีในแผ่นดินนี้ก็ดี ในเทพโลกก็ดี ในนาคโลกก็ดี เหาะไปในกลางหาว และไปประชุมกันในลังกาทวีป แล้วจักเหาะไปอยู่ในต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สรรเพชญตญาณ เป็นพระพุทธแต่ก่อนอั้น จึงจักกาลไฟไหม้พระธาตุทั้งอั้นสิ้นแล เปลวไฟพลุ่งขึ้นคุงพรหมโลกศาสนาพระพุทธจักสิ้น ในวันดังกล่าวอั้นแล "

ศิลาจารึกวัดป่าม่วง เป็นภาษาไทยสองหลัก เป็นภาษาบาลีหนึ่งหลัก จารึกภาษาไทยหลักที่ 1 เรียกว่า จารึกหลักที่ 5 ทำด้วยหินทราย หลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ 28 เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ 29 เซนติเมตรสองด้าน สูง 115 เซนติเมตร พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) พบที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2448 จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.1904 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ข้อความที่จารึกบอกให้ทราบว่าบริเวณวัดป่ามะม่วง เป็นรมณียสถานที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงปลูกมะม่วงไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1904 ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช และเป็นพัทธสีมาที่ทรงผนวชของสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช ก่อนถึงกาลทรงผนวชได้กล่าวถึงอดีตว่า เมื่อพญาลือไท ผู้รู้พระไตรปิฎกขึ้นเสวยราชย์ ท้าวพระยาทั้งหลายอภิเษกขึ้นชื่อ ศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช เสวยราชย์ชอบด้วยทศพิธราชธรรม ในปี พ.ศ.1904 ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชลังกาวงศ์ จากนครพันมาจำพรรษา ณ กรุงสุโขทัย ทรงหล่อพระพุทธรูปด้วยเนื้อทองสำริดองค์ใหญ่ ประดิษฐานด้านตะวันออกองค์มหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย เมื่อออกพรรษาแล้วทรงสมาทานทศศีลเป็นดาบส หน้าพระพุทธรูปทอง อันประดิษฐานไว้เหนือราชมณเฑียร อาราธนาพระมหาสามีพร้อมคณะสงฆ์ขึ้นสู่ราชมณเฑียร ทรงบรรพชาเป็นสามเณร แล้วเสด็จไปทรงผนวช ณ พัทธสีมาวัดป่ามะม่วงในที่สุด

จารึกภาษาไทยหลักที่ 2 เรียกว่า จารึกหลักที่ 7 ทำด้วยหินทรายแปร หลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 28 เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ 12.5 เซนติเมตรสองด้าน สูง 132 เซนติเมตร พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พบที่วัดป่ามะม่วง เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.2458 จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.1904 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

จากรึกหลักนี้ชำรุดมาก ด้านที่หนึ่งกับด้านที่สามอ่านจับความไม่ได้ ด้านที่สองกับด้านที่สี่พออ่านได้บ้าง เป็นการจารึกเรื่องราวของการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในป่ามะม่วง เช่น กุฎี พิหาร สีมากระลาอุโบสถ และการทรงผนวชของสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช

จารึกภาษาเขมร เรียกว่า จารึกหลักที่ 4 ทำด้วยหินแปร เป็นหลักสี่เหลี่ยมกระโจม หรือทรงยอ กว้าง 30 เซนติเมตร สูง 200 เซนติเมตร หนา 29 เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบที่โคกปราสาทร้างเมื่อคราวเสด็จถึงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.2376 จารึกด้วยอักษรไทย ภาษาเขมร เมื่อปี พ.ศ.1904 ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติพระนคร

ข้อความในจารึกเป็นเรื่องราวคล้ายจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทยหลักที่หนึ่ง คือ พระยาลิไทยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสามีสังฆราช จากนครพันมาสุโขทัย เพื่อทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวชของพระองค์ และเล่าเรื่องพระยาลิไทย ยกพลจากศรีสัชนาลัยมายึดสุโขทัยขึ้นเสวยราชย์ตามสิทธิอันชอบธรรม

จากรึกภาษาบาลี เรียกว่า จารึกหลักที่ 6 ทำด้วยหินแปรรูปสี่เหลี่ยมทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ 33 เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ 27 เซนติเมตรสองด้าน สูง 130 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลีเมื่อปี พ.ศ.1904 พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมพ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พบที่วัดป่ามะม่วง เมื่อปี พ.ศ.2451 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ข้อความที่จารึกเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสามีสังฆราช พระอุปัชฌาย์ของพระมหาธรรมราชาลิไทย มีข้อความสรรเสริญพระมหาธรรมราชา ที่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า ในพระพุทธศาสนา

ศิลาจารึกวัดอโศการาม เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 93 ทำด้วยหินแปร เป็นแผ่นรูปใบเสมา กว้าง 54 เซนติเมตร สูง 134 เซนติเมตร หนา 15 เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งมี 47 บรรทัด จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่สองมี 51 บรรทัด จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี เมื่อปี พ.ศ.1942 กองโบราณคดี กรมศิลปากรพบที่วัดอโศการามเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.2498 ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติพระนคร

ข้อความในจารึกมีว่า สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพธรณีโลกรัตน์ เป็นชายาแด่สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช กอร์ปด้วยปัญจพิธกัลยาณีมีศีลพระ...

ศิลาจารึกวัดบูรพาราม เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 286 ทำด้วยหินชนวนสีเขียว รูปใบเสมา ส่วนล่างชำรุดหักหาย มีขนาดกว้าง 59 เซนติเมตร สูง 146 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งมี 55 บรรทัด จารึกด้วยอักษรสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่สองมี 56 บรรทัด จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี เมื่อปี พ.ศ.1955 พระครูปลัดสนธิ จิตฺตปญฺโญ วัดศาลาครืน เขตจอมทอง กรุงเทพ ฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตน ฯ เมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งได้พระราชทานให้กรมศิลปากรจัดแสดงเพื่อการศึกษา ณ อาคารหอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ พระนคร

จารึกวัดบูรพารามระบุว่า สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิดิเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตร เป็นเจ้า ผู้เป็นบาทบริจาริการัตนชายา แด่สมเด็จพระมหาธรรมราชา กอร์ปด้วยปัญจพิธกัลยาณี มีศิลพิริยะปรีชา...

จารึกวัดบูรพารามบอกเล่าพระราชประวัติ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชสามี สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ประสูติจากพระครรภ์ สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา เมื่อประมาณปี พ.ศ.1911 ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพระชนมพรรษาได้ 16 ปี ได้เสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ.1939 และเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.1951 ในปี พ.ศ.1955 สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ จึงทรงสร้างวัดบูรพาราม ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ในจารึกหลักนี้ สมเด็จพระราชเทวี ฯ ทรงระบุสายสัมพันธ์ราชสกุล ตามลำดับพระราชอิสริยยศ คือ
  • สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา
  • สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา
  • สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์
  • สมเด็จพระรามราชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระราชเทวี ฯ
  • ศรีธรรมาโศกราช พระราชโอรสสมเด็จพระราชเทวี ฯ
การสร้างวัด ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และการทำบุญต่าง ๆ นั้น สมเด็จพระราชเทวี ฯ ทรงอุทิศแด่สมเด็จปู่พระญา พ่อออก แม่ออก สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช พระศรีธรรมราชมารดา และทรงอธิษฐานว่า ขอให้ได้เกิดเป็นผู้ชายในอนาคตกาล ขอให้ได้สดับตรับฟังธรรมอันประเสริฐของพระพุทธเมตไตรย ขอพระพุทธเมตไตรยดำรัสสรรเสริญพระนางท่ามกลางพุทธบริษัท ขออย่าให้ผู้อื่นเทียมทันพระนางด้วยบุญสมภารด้วยรูป ด้วยยศ ด้วยสมบัติในทุกภพทุกชาติไป

นอกจากศิลาจารึกหลักต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีศิลาจารึกสำคัญ ๆ ของสุโขทัยที่ให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของสุโขทัยในอดีตอีกมากมาย เช่น ศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ จารึกวัดพระยืน จารึกวัดสรศักดิ์ จารึกกฎหมายลักษณะโจร จารึกปู่สบถ จารึกวัดเขากบ จารึกวัดเขมา จารึกวัดป่าแดง จารึกพระธรรมกาย จารึกพระอภิธรรม จารึกวัดตาเถรขึ้หนัง จารึกวัดกำแพงงาม จารึกวัดพระเสด็จ จารึกนายศรีโยธาราชออกบวช จารึกภาพชาดกในอุโมงค์วัดศรีชุม 48 ภาพ กับจารึกอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญของชาติไทย ให้รู้ว่าไทยเป็นประเทศเอกราชมีเอกลักษณ์ของตนเอง และเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นติดต่อกันมานานไม่น้อยกว่า 700 ปีมาแล้ว

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พระราชประวัติ
                ถ้าจะเปรียบพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ในด้านความเป็นสัพพัญญู และพหูสูต พ่อขุนรามคำแหงก็น่าจะอยู่ในอันดับแรก เพราะพระองค์ทรงเป็นตัวอย่างในด้านความรอบรู้อย่างดี ที่ว่าเป็นตัวอย่างนั้น เพราะพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ในสมัยพระองค์ เริ่มต้นและเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อพระองค์เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้ประเดิม จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะทรงเป็น มหาราช องค์แรกของไทย และควรจะนับได้ด้วยว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นมหาราชองค์เดียว ที่ไม่ต้องอาศัยสงครามและการสู้รบมาเสริมพระบารมี
พระประสูติกาล
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า "พระยาบานเมือง" ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา
ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งล้านนา และพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุตทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพ่อขุนเม็งรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
พระนาม
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า "พระรามคำแหง" ซึ่งแปลว่า "พระรามผู้กล้าหาญ"
ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ "ราม" เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า "พ่อขุนรามราช" อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ 11 พระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า "พระยาพระราม" และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดา ในเหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1962 ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏเจ้าเมืองพระนามว่า "พระยาบาลเมือง" และ "พระยาราม"
การเสวยราช
นายตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. 1820 เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย
ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต จึงได้หาหลักฐานมาประกอบพบว่า กษัตริย์ไทยอาหมถือประเพณีทรงปลูกต้นไทรตอนขึ้นเสวยราชย์อย่างน้อยเจ็ดรัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไทร อนึ่ง ต้นตาลและต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกาจนทำหาย